4 สถาบันศึกษาด้านภาพยนตร์ ออกแถลงการณ์จี้ผู้จัดสุพรรณหงส์ เปิดโอกาสหนังนอกกระแส ทุกเรื่องที่ส่งผลงานเข้ารับการเสนอชื่อ เพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน
จากกรณีที่สมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งชาติ ผู้จัดประกวดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ กำหนดเกณฑ์การคัดเลือกภาพยนตร์ไทยที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลดังกล่าวว่า ต้องเป็นภาพยนตร์ที่เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ครบ 5 ภูมิภาค อย่างน้อยใน 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และนครศรีธรรมราช และมีผู้ชมไม่น้อยกว่า 50,000 คนนั้น
เกณฑ์ดังกล่าวทำให้ภาพยนตร์บางเรื่องเช่นภาพยนตร์ต้นทุนต่ำหรือภาพยนตร์นอกกระแส ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ชมได้ตามเงื่อนไขที่สมาพันธ์ฯ กำหนดไว้นั้น ไม่มีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล ยังผลให้ภาพยนตร์ที่อยู่ในข่ายได้รับการเสนอชื่อเป็นภาพยนตร์กระแสหลักที่เข้าถึงมวลชนจำนวนมากเท่านั้น วิธีการดังกล่าวถือว่าขัดกับปรัชญาของการมอบรางวัลซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูผลงานมีคุณภาพมากกว่าการเชิดชูผลงานที่เข้าถึงผู้ชมจำนวนมาก
นอกจากนี้เกณฑ์การคัดเลือกดังกล่าว ยังปิดกั้นโอกาสการสร้างบรรยากาศการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ไทยที่หลากหลาย เพื่อสร้างทางเลือกแก่ผู้ชมที่มีรสนิยมการรับชมภาพยนตร์ที่แตกต่างกัน
ในนามของสถาบันการศึกษาที่มีการเรียนการสอนด้านภาพยนตร์ 4 สถาบัน ดังมีรายชื่อแนบท้ายนี้ ต่างล้วนมีพันธกิจหลักในการสร้างและส่งเสริมบุคลากร เพื่อเข้าสู่วิชาชีพในการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ จึงขอเรียกร้องให้สมาพันธ์ภาพยนตร์ไทย ซึ่งควรมีหน้าที่หลักในการสนับสนุนและส่งเสริมภาพยนตร์ไทยอย่างทั่วถึง ได้เปิดโอกาสให้ภาพยนตร์ไทยทุกเรื่องที่ส่งผลงานเข้ารับการเสนอชื่อ เพื่อชิงรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติมีสิทธิ์ได้รับการพิจารณาอย่างเท่าเทียมกัน
1) ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2) เอกภาพยนตร์ สาขานิเทศศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยศิลปากร
3) คณะดิจิทัลมีเดียและศิลปะภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
4) สาขาวิชาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ